วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กกทอเสื่อ

 กก  เป็นไม้ล้มลุกในวงศ์  Cyperaceae 
ขึ้นในที่ชุมแฉะ  มีหัวเหมือนข่าแต่เล็กกว่าและแตกแขนงเป็นต้น  คำเรียกพื้นเมืองมักเรียกตามลักษณะลำต้นว่า  กกเหลี่ยม  กกกลม  ชนิดลำต้นกลมนิยมใช้ในการทอเสื่อ  เพราะผิวจะเหนียวและอ่อนนุ่ม  เมื่อทำเป็นเสื่อแล้วจะนิ่มนวลน่าใช้  หากขัดถูก็จะเป็นมันน่าดู  ส่วนกกเหลี่ยมลำต้นมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม  ผิวของกกชนิดนี้จะแข็งกรอบและไม่เหนียว  ไม่นิยมนำมาใช้ทำเสื่อเพราะไม่ทน
    การทอเสื่อกก  ก็เป็นเช่นเดียวกับการสร้างสรรค์สิ่งอื่นๆ  ด้วยภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นที่มีพืชชนิดนี้ขึ้นอยู่  ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปทุกภูมิภาค  จนยากที่จะระบุได้ว่าเสื่อผืนแรกของโลกถูกทอขึ้นเมื่อไร  หรือชนชาติไหนเป็นชาติแรกที่ทอเสื่อขึ้นใช้  อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการทอเสื่อกกได้กลายเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นต่างๆ  ในประเทศไทย  และได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบแปรรูป  ให้มีลักษณะต่างๆ  และใช้นอกเหนือไปจากการปูนั่งหรือนอน  เช่นในอดีตที่ผ่านมา
    ส่วนการทอเสื่อกกของชาวบ้านตำบลดงน้อย  อำเภอราชสาส์น  จังหวัดฉะเชิงเทรา   ก็ถูกจัดนับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของท้องถิ่นนี้  ที่มีการทำและสืบทอดความรู้จากคนรุ่นหนึ่งสู่คนรุ่นต่อมาอย่างสืบเนื่องยาวนาน   จนการทอเสื่อกกกลายเป็นวิถีชีวิตในยามว่างจากงานเกษตรกรรม  เพื่อทำขึ้นใช้เองในครัวเรือน  และซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นรายได้เสริม
    ยิ่งได้รับการส่งเสริมพัฒนาจากหน่วยงานของรัฐ  ก็สามารถพัฒนาคุณภาพของวัตถุดิบ และฝีมือการทอ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำรายได้ให้แก่กลุ่มแม่บ้านที่รวมตัวขึ้นเพื่อประกอบการทอเสื่อตามแนวนโยบายธุรกิจชุมชน  จนมีความเข้มแข็ง และอยู่รอดได้ท่ามกลางกระแสความผันแปรของวัฒนธรรม และค่านิยมในการใช้สอย
    ส่วนมูลเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้ภูมิปัญญาการทอเสื่อกกยังคงดำเนินอยู่ได้ในชุมชนดงน้อยแห่งนี้  อาจจำแนกแยกแยะออกได้ว่า
     ๑. การทอเสื่อของชาวตำบลดงน้อยนี้  เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่ดำเนินสืบต่อกันมาเป็นปกติวิสัย  คือเมื่อมีเวลาว่างก็ทอเพื่อใช้หรือขายเป็นรายได้เสริม  แม้บางช่วงเวลาและโอกาส อาจทำรายได้มากกว่าอาชีพหลัก  แต่ก็ไม่ทำให้วิถีชีวิตของผู้ประกอบการเปลี่ยนไปตามกระแสธุรกิจ  หรือกระแสค่านิยมในเรื่องหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์  หรือการท่องเที่ยว  ชาวบ้านก็ยังมีชีวิตตามปกติเหมือนเดิม ยังอนุรักษ์และสืบทอดเหมือนที่ผ่านมา
        ๒.  แม้คนรุ่นใหม่ของชุมชนจะมีค่านิยมในการประกอบอาชีพเปลี่ยนไปตามกระแสของสังคม  คือเข้าสู่โรงงาน  แต่พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย  ยังคงเป็นเกษตรกรที่ทำนา  เลี้ยงสัตว์  เมื่อมีเวลาว่างก็ทอเสื่อตามปกติ  ปัญหาขาดผู้สืบทอดดูมิใช่ปัญหา  เพราะลูกหลานกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้  ล้วนซึมซับรับรู้การทอเสื่ออยู่เต็มตัวตั้งแต่เล็ก  ซึ่งเมื่อไรที่โรงงานปิดตัวลงหรือคนรุ่นใหม่มีอายุมากขึ้น  และเบื่อชีวิตโรงงาน  ก็สามารถหันกลับมาจับงานเกษตรกรรม  และใช้เวลาว่างทอเสื่อได้ทุกเวลา
     ๓.  ด้านเยาวชนในชุมชน  ภูมิปัญญานี้ได้ถูกปลูกฝังด้วยระบบของการศึกษาที่กลุ่มแม่บ้านออกไปเป็นวิทยากรสอนแก่นักเรียนและผู้สนใจ  นอกเหนือจากการปลูกฝัง ความรู้ทางระบบครอบครัวอีกทางหนึ่ง
    ๔.  ปัจจุบันการทำนากก  เพื่อขายต้นกกสดหรือเส้นกกแห้งให้เป็นวัตถุดิบแก่ผู้ทอ  นับเป็นการช่วยย่นระยะเวลาของผู้ประกอบการ  ไม่ต้องมาเสียเวลาทำนากก  สามารถซื้อเส้นกกไปใช้ขายได้เลย  ทำให้การทอเสื่อยังคงดำรงอยู่ได้อีกรูปแบบหนึ่งแต่อาจก่อปัญหาในภูมิปัญญาการทำนากกในวันข้างหน้า  แก่คนรุ่นใหม่ได้
    ๕.  เส้นทางของการทอเสื่อนอกจากทำเป็นแผ่นผืนไว้ใช้สอยแล้ว  ยังมีอีกในการประยุกต์ผืนเสื่อแปรเป็นรูปผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น กระเป๋า  ซองจดหมาย  จานรอง  รองเท้า ฯลฯ  ซึ่งผู้ประกอบการในชุมชนนี้ยังก้าวมาไม่ถึง  จึงนับว่ายังมีช่วงเวลาของการสืบสานภูมิปัญญาในการทออีกระยะหนึ่ง  กว่าจะถึงจุดเปลี่ยนของภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ธุรกิจชุมชนและการตลาด
    ๖.   ตราบใดที่ภูมิปัญญาท้องถิ่นยังเป็นเรื่องของวิถีชีวิตในชุมชน  ตราบนั้นภูมิปัญญายังอยู่ได้เพราะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน  แต่ถ้าตราบใดภูมิปัญญาท้องถิ่นถูกผลักดันให้เป็นจุดนำวิถีชีวิต เพื่อหวังผลในเชิงธุรกิจและผลประโยชน์แล้ว  อันตรายของภูมิปัญญาคือการถูกตีค่าเป็นเรื่องของวัตถุ  มิใช่มีผลต่อจิตใจตราบนั้นความเสื่อมสูญก็จะเร่งวันให้ผันแปรไปตามกระแสทันที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น