วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ประวัติ

ประวัติการทอเสื่อกก

                       การทอเสื่อกกมีการทอมาตั้งแต่สมัยปู่ยา ตา ยายประมาณ 60 ปีมาแล้ว โดยทอจากต้นกกสามเหลี่ยม ต่อมาพระที่วัดได้นำพันธ์ต้นกก มาจากจังหวัดร้อยเอ็ดมาทดลองปลูกที่ริมหนองน้ำบึงแพง ต่อมาได้มีพัฒนากรเข้ามาร่วมกลุ่มทอเสื่อกกจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นในปี 2521 สมาชิกก่อตั้ง   มี นางสัว สิทธิจันทร์ เป็นประธาน และในปี 2532 ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ส่งวิทยากรมาฝึกอบรมเกี่ยวกับการซอย การย้อมสี การทอ การแปรรูป และการให้ลวดลาด  ในการทอเสื่อกกให้กับกลุ่ม
                  ในปี 2524 สำนักงานพัฒนาชุมชน อ.โกสุมพิสัย คัดเลือกผู้นำ 2 คน คือ นางบุญสัวสิทธิจันทร์ และ นางบัวทอง โพธิรุกษ์ ไปอบรมนาเพิ่มพูนประสิทธิภาพการทอเสื่อกก เกี่ยวกับขั้นตอนต่าง ๆ ในการทอเป็นเวลา 1 เดือน และนำความรู้ที่ได้รับกลับมาเผยแพร่ให้กับกลุ่มในหมู่บ้านและเป็นวิทยากร ฝึกอบรมการทอเสื่อกกให้กับกลุ่มอาชีพทอเสื่อกกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ




ประวัติของกลุ่มทอเสื่อกก 
         การทอเสื่อกก  เกิดขึ้นประมาณ  60  ปีแล้ว  ส่วนใหญ่ทอเสื่อเพื่อใช้สอยในครัวเรือนสำหรับแลกเปลี่ยนกับสิ่งของเครื่องใช้ภายในครัวเรือนกันเองในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงโดยเริ่มต้นทอกกสามเหลี่ยม (ต้นผือ)ต่อมาพระที่วัดได้นำพันธุ์กกกระจูด  ( ต้นไหล ) มาจากจังหวัดร้อยเอ็ดมาทดลองปลูกที่ริมบึงแพง ผลปรากฏว่าเป็นพืชที่ปลูกได้ผลดี  เจริญเติบโตเร็ว  จึงมีราษฏรในเขตหมู่บ้านแพงนำมาปลูกซึ่งต้นกกกระจูดมีคุณสมบัติที่เหนียว เมื่อทอเป็นผืนใช้งานได้ดี มีความคงทนถาวรมากกว่าการทอจากต้นกกสามเหลี่ยม( ต้นผือ ) ต่อมามีการจัดตั้งเป็นกลุ่มอาชีพทอเสื่อกกขึ้น

กกทอเสื่อ

 กก  เป็นไม้ล้มลุกในวงศ์  Cyperaceae 
ขึ้นในที่ชุมแฉะ  มีหัวเหมือนข่าแต่เล็กกว่าและแตกแขนงเป็นต้น  คำเรียกพื้นเมืองมักเรียกตามลักษณะลำต้นว่า  กกเหลี่ยม  กกกลม  ชนิดลำต้นกลมนิยมใช้ในการทอเสื่อ  เพราะผิวจะเหนียวและอ่อนนุ่ม  เมื่อทำเป็นเสื่อแล้วจะนิ่มนวลน่าใช้  หากขัดถูก็จะเป็นมันน่าดู  ส่วนกกเหลี่ยมลำต้นมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม  ผิวของกกชนิดนี้จะแข็งกรอบและไม่เหนียว  ไม่นิยมนำมาใช้ทำเสื่อเพราะไม่ทน
    การทอเสื่อกก  ก็เป็นเช่นเดียวกับการสร้างสรรค์สิ่งอื่นๆ  ด้วยภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นที่มีพืชชนิดนี้ขึ้นอยู่  ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปทุกภูมิภาค  จนยากที่จะระบุได้ว่าเสื่อผืนแรกของโลกถูกทอขึ้นเมื่อไร  หรือชนชาติไหนเป็นชาติแรกที่ทอเสื่อขึ้นใช้  อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการทอเสื่อกกได้กลายเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นต่างๆ  ในประเทศไทย  และได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบแปรรูป  ให้มีลักษณะต่างๆ  และใช้นอกเหนือไปจากการปูนั่งหรือนอน  เช่นในอดีตที่ผ่านมา
    ส่วนการทอเสื่อกกของชาวบ้านตำบลดงน้อย  อำเภอราชสาส์น  จังหวัดฉะเชิงเทรา   ก็ถูกจัดนับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของท้องถิ่นนี้  ที่มีการทำและสืบทอดความรู้จากคนรุ่นหนึ่งสู่คนรุ่นต่อมาอย่างสืบเนื่องยาวนาน   จนการทอเสื่อกกกลายเป็นวิถีชีวิตในยามว่างจากงานเกษตรกรรม  เพื่อทำขึ้นใช้เองในครัวเรือน  และซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นรายได้เสริม
    ยิ่งได้รับการส่งเสริมพัฒนาจากหน่วยงานของรัฐ  ก็สามารถพัฒนาคุณภาพของวัตถุดิบ และฝีมือการทอ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำรายได้ให้แก่กลุ่มแม่บ้านที่รวมตัวขึ้นเพื่อประกอบการทอเสื่อตามแนวนโยบายธุรกิจชุมชน  จนมีความเข้มแข็ง และอยู่รอดได้ท่ามกลางกระแสความผันแปรของวัฒนธรรม และค่านิยมในการใช้สอย
    ส่วนมูลเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้ภูมิปัญญาการทอเสื่อกกยังคงดำเนินอยู่ได้ในชุมชนดงน้อยแห่งนี้  อาจจำแนกแยกแยะออกได้ว่า
     ๑. การทอเสื่อของชาวตำบลดงน้อยนี้  เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่ดำเนินสืบต่อกันมาเป็นปกติวิสัย  คือเมื่อมีเวลาว่างก็ทอเพื่อใช้หรือขายเป็นรายได้เสริม  แม้บางช่วงเวลาและโอกาส อาจทำรายได้มากกว่าอาชีพหลัก  แต่ก็ไม่ทำให้วิถีชีวิตของผู้ประกอบการเปลี่ยนไปตามกระแสธุรกิจ  หรือกระแสค่านิยมในเรื่องหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์  หรือการท่องเที่ยว  ชาวบ้านก็ยังมีชีวิตตามปกติเหมือนเดิม ยังอนุรักษ์และสืบทอดเหมือนที่ผ่านมา
        ๒.  แม้คนรุ่นใหม่ของชุมชนจะมีค่านิยมในการประกอบอาชีพเปลี่ยนไปตามกระแสของสังคม  คือเข้าสู่โรงงาน  แต่พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย  ยังคงเป็นเกษตรกรที่ทำนา  เลี้ยงสัตว์  เมื่อมีเวลาว่างก็ทอเสื่อตามปกติ  ปัญหาขาดผู้สืบทอดดูมิใช่ปัญหา  เพราะลูกหลานกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้  ล้วนซึมซับรับรู้การทอเสื่ออยู่เต็มตัวตั้งแต่เล็ก  ซึ่งเมื่อไรที่โรงงานปิดตัวลงหรือคนรุ่นใหม่มีอายุมากขึ้น  และเบื่อชีวิตโรงงาน  ก็สามารถหันกลับมาจับงานเกษตรกรรม  และใช้เวลาว่างทอเสื่อได้ทุกเวลา
     ๓.  ด้านเยาวชนในชุมชน  ภูมิปัญญานี้ได้ถูกปลูกฝังด้วยระบบของการศึกษาที่กลุ่มแม่บ้านออกไปเป็นวิทยากรสอนแก่นักเรียนและผู้สนใจ  นอกเหนือจากการปลูกฝัง ความรู้ทางระบบครอบครัวอีกทางหนึ่ง
    ๔.  ปัจจุบันการทำนากก  เพื่อขายต้นกกสดหรือเส้นกกแห้งให้เป็นวัตถุดิบแก่ผู้ทอ  นับเป็นการช่วยย่นระยะเวลาของผู้ประกอบการ  ไม่ต้องมาเสียเวลาทำนากก  สามารถซื้อเส้นกกไปใช้ขายได้เลย  ทำให้การทอเสื่อยังคงดำรงอยู่ได้อีกรูปแบบหนึ่งแต่อาจก่อปัญหาในภูมิปัญญาการทำนากกในวันข้างหน้า  แก่คนรุ่นใหม่ได้
    ๕.  เส้นทางของการทอเสื่อนอกจากทำเป็นแผ่นผืนไว้ใช้สอยแล้ว  ยังมีอีกในการประยุกต์ผืนเสื่อแปรเป็นรูปผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น กระเป๋า  ซองจดหมาย  จานรอง  รองเท้า ฯลฯ  ซึ่งผู้ประกอบการในชุมชนนี้ยังก้าวมาไม่ถึง  จึงนับว่ายังมีช่วงเวลาของการสืบสานภูมิปัญญาในการทออีกระยะหนึ่ง  กว่าจะถึงจุดเปลี่ยนของภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ธุรกิจชุมชนและการตลาด
    ๖.   ตราบใดที่ภูมิปัญญาท้องถิ่นยังเป็นเรื่องของวิถีชีวิตในชุมชน  ตราบนั้นภูมิปัญญายังอยู่ได้เพราะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน  แต่ถ้าตราบใดภูมิปัญญาท้องถิ่นถูกผลักดันให้เป็นจุดนำวิถีชีวิต เพื่อหวังผลในเชิงธุรกิจและผลประโยชน์แล้ว  อันตรายของภูมิปัญญาคือการถูกตีค่าเป็นเรื่องของวัตถุ  มิใช่มีผลต่อจิตใจตราบนั้นความเสื่อมสูญก็จะเร่งวันให้ผันแปรไปตามกระแสทันที

ผลิตภัณฑ์

งานผลิตภัณฑ์ทอเสื่อกก
 การทอเสื่อกก  เป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น  ที่นำเอาต้นกกมาแปรสภาพให้เป็นเส้น ย้อมสี  แล้วสานทอให้เป็นแผ่นผืน  เพื่อนำมาใช้ปูลาดรองนั่งหรือนอน  หรือทำธุรกรรมต่างๆ  ตลอดจนทำพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ
    เสื่อกก  เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีใช้กันอยู่ทั่วไปทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ  ทั้งนี้เพราะต้นกกเป็นพืชธรรมชาติที่ขึ้นอยู่ทั่วทุกภูมิภาค และภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นที่นำต้นกกมาแปรสภาพก็มีลักษณะคล้ายกัน หรือได้อิทธิพลทางความคิดจากกันและกัน ทำให้เสื่อกกถูกจัดได้ว่าเป็นปัจจัยจำเป็นอย่างหนึ่ง  ต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในอดีต
    ที่ตำบลดงน้อย  อำเภอราชสาส์น  จังหวัดฉะเชิงเทรา  คือภูมิภาคหนึ่งที่มีการสืบสานภูมิปัญญาทางด้านการทอเสื่อกกนี้มายาวนาน จนปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อื่นเข้ามาทดแทนการใช้เสื่อกกมากมายให้เลือก นับตั้งแต่เสื่อน้ำมัน พรม กระเบื้องปูพื้น  และอื่นๆ  ทำให้กระแสความนิยมในการใช้เสื่อกกลดลง  และคนรุ่นใหม่ก็สนใจในภูมิรู้ด้านนี้น้อย
    การศึกษาข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอเสื่อกกของชุมชนนี้  ก็เพื่อให้เห็นถึงวัฒนธรรมทางภูมิปัญญาของท้องถิ่น  และปัญหาที่เสี่ยงต่อการสูญสิ้นของภูมิปัญญานี้ ว่ามีมากหรือน้อย และด้วยปัจจัยหรือองค์ประกอบใด เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์หรือแก้ไข  สำหรับบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโอกาสต่อไป

    การทอเสื่อกก ของชาวไทยเชื้อสายเขมร ที่ตำบลดงน้อย อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นวิถีชีวิตที่ดำเนินสืบเนื่องกันมาในระบบครอบครัว  นับตั้งแต่บรรพชนจนถึงปัจจุบัน เกือบทุกครัวเรือนที่ลูกหลานต่างซึมซับรับรู้ภูมิปัญญาด้านการทอเสื่อนี้เข้าไว้ในตัว
    แม้ชาวชุมชนจะมีอาชีพหลักทางด้านเกษตรกรรมการทำนาข้าว และการเลี้ยงกุ้ง แต่พื้นที่บางส่วนก็ถูกกันไว้เพื่อทำนากก  บ้านใดปลูกข้าวน้อยก็จะปลูกกกมาก  บ้านใดปลูกข้าวมากก็เหลือพื้นที่ไว้ปลูกกกบ้าง  เพื่อให้ได้วัตถุดิบมาทอเป็นเสื่อสร้างรายได้เสริมยามว่างจากเกษตรกรรม
    ครั้นมีหน่วยงานทางราชการเข้ามาแนะนำส่งเสริม  ทั้งการพัฒนาปรับปรุงการทำนากก  ทั้งการทอเสื่อ  ตามนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ธุรกิจชุมชน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์  ทำให้เกิดการตื่นตัวของชาวชุมชน มีการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ประกอบการเป็นกลุ่มแม่บ้านทอเสื่อทั้งหมู่ที่ ๘ และหมู่ที่ ๙  สร้างความเข้มแข็ง  สร้างภูมิคุ้มกันแก่ภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอเสื่อนี้ให้มีความมั่นคงขึ้น
    แม้ปัจจุบันกระแสความนิยมในการใช้เสื่อกกจะลดลง ค่านิยมในการทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรมของคนรุ่นใหม่มีมาอย่างต่อเนื่อง  แต่ผลิตภัณฑ์เสื่อกกของชุมชนทั้งหมู่ ๘ และหมู่ ๙  ตำบลดงน้อย ก็ยังมีการทำออกมาอย่างไม่ขาดสาย  เพราะคนหนุ่มคนสาวถึงแม้จะอยู่ที่โรงงาน  แต่คนแก่คนเฒ่าที่เฝ้าบ้านรอการเก็บเกี่ยวผลิตผลด้านการเกษตร ต่างไม่ปล่อยเวลาว่างให้ผ่านไปโดยสูญเปล่า  การทอเสื่อกกของชุมชน   จึงยังคงอยู่ได้เสมอมาจนถึงวันนี้

    การทอเสื่อ เป็นไปเพื่อการใช้สอยในครัวเรือน  โดยท้องถิ่นใดมีต้นกกก็ทอเสื่อกก  ท้องถิ่นใดมีต้นกระจูดก็ทอเสื่อกระจูด  เสื่อในอดีตเป็นของใช้ที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับปูนั่งหรือนอน  จนถึงกับมีคำกล่าวว่า  บ้านใดไม่มีเสื่อใช้  ถือว่า พ่อ แม่ ลูก เกียจคร้านไม่มีฝีมือ  หนุ่มสาวที่แต่งงานตั้งครอบครัวใหม่หรือขึ้นเรือนใหม่ จะต้องเตรียมที่นอน หมอน มุ้ง  ส่วนเสื่อฝ่ายหญิงจะจัดเตรียมทอสะสมไว้เป็นของขึ้นเรือน  นอกจากนี้ยังทอเพื่อถวายเป็นไทยทานให้กับวัด  เพื่อบำรุงศาสนาในฤดูเทศกาลต่างๆ  และยังนำเสื่อที่ทอไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกับหมู่บ้านใกล้เคียงอีกด้วย
    ชาวชุมชุนหมู่ที่ ๘ และ ๙  ตำบลดงน้อย  อำเภอราชสาส์น  จังหวัดฉะเชิงเทรา  ก็มีค่านิยมทางวัฒนธรรมดังเช่นที่กล่าวมา  ดังนั้นภูมิปัญญาด้านการทอเสื่อกกจึงเสมือนภูมิรู้พื้นบ้านที่แต่ละครัวเรือนต้องปลูกฝังให้ลูกหลานมีความรู้  มิให้ได้ชื่อว่าเกียจคร้าน  มิต้องเสียทรัพย์สินเงินทองไปซื้อหา  และมิให้เวลาว่างสูญไปโดยเปล่าประโยชน์  ซึ่งนอกจากจะทอไว้เพื่อใช้เองในครัวเรือนแล้วยังสามารถทอเป็นอาชีพสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง
    ปัจจุบันขณะที่แนวโน้มภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านต่างๆ  กำลังจะสูญหายไป  แต่การทอเสื่อที่ตำบลดงน้อยกลับเกาะกลุ่มเป็นชุมชนเข้มแข็ง  ยืนหยัดพัฒนาภูมิปัญญานี้ต้านกระแสค่านิยมใหม่ของสังคมอย่างเหนียวแน่น  การศึกษาข้อมูลของชุมชนนี้ก็เพื่อศึกษาปัจจัยองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องว่า  เป็นเพราะเหตุผลใดที่ภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้จึงยังคงดำรงอยู่ได้อย่างยืนยงมาตลอด


    การทอเสื่อกกของชาวชุมชนหมู่ที่ ๘ และ ๙ ตำบลดงน้อย อำเภอราชสาส์น  จังหวัดฉะเชิงเทรา  มีการทำสืบทอดกันมายาวนานนับตั้งแต่แรกเริ่มตั้งหมู่บ้าน  และถ่ายทอดอารยธรรมทางปัญญาสืบต่อๆ กันมาทางระบบครอบครัว   จากรุ่นสู่รุ่นจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
    ด้วยมูลเหตุทางด้านภูมิศาสตร์  พื้นที่ในชุมชนมีต้นกกขึ้นแต่แรก และมีการทำนากก  เพื่อเก็บรักษาวัตถุดิบธรรมชาติไว้ใช้ในการทอเสื่อสืบต่อกันมาอย่างไม่ขาดสาย   ทำให้ความรู้ในภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ดำรงอยู่สืบมาอย่างต่อเนื่อง  กระทั่งปัจจุบันการทำนากกบางครอบครัวยึดถือเป็นอาชีพหลัก นอกเหนือจากการทำนาข้าว  เลี้ยงกุ้ง  หรือเกษตรกรรมอื่นๆ ทั้งนี้เพราะสามารถขายผลผลิตที่เป็นกกสดหรือกกเส้นแก่ผู้ทอรายอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี กระทั่งมีพ่อค้ารับส่งถึงที่  เพื่อไปขายให้แก่ผู้ทอในจังหวัดอื่นๆ ถึงจันทบุรีก็มี
    เนื่องจากความรู้เกี่ยวกับการทอเสื่อกก  เป็นพื้นฐานความรู้ที่เริ่มตั้งแต่ครอบครัว  ที่ทำเพื่อไว้ใช้และทำเหลือจากใช้ไว้ขายเป็นรายได้เสริม เด็กๆ ได้ซึมซับรับรู้กรรมวิธีและขั้นตอนการทำ การทอนี้มาตลอด  เมื่อโตพอก็จะได้รับการฝึกฝนจนเป็นทักษะและความชำนาญ  และกลายเป็นที่ยอมรับ  กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ไปในที่สุด แม้ปัจจุบันจะมีกระแสค่านิยมในอาชีพตามโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาเป็นทางเลือก ก็ยังมีคนรุ่นใหม่ไม่น้อยที่พึงพอใจจะอยู่สืบสานงานอาชีพด้านเกษตรกรรม และการทอเสื่อกกจากบรรพชนอยู่กับบ้าน  อีกทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ก็ไม่เคยปล่อยเวลาว่างให้สูญไปโดยเปล่าประโยชน์  ด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือล้วนอยู่ใกล้ตัว  เพียงหยิบฉวยเส้นกกขึ้นสอดใส่ไม่ช้าก็ได้เสื่อผืนงามที่ทำรายได้อย่างน่าพอใจในระดับหนึ่ง

วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2559

ประวัติผู้จัดทำ 


นางสาวศิริพร  อาจธานี  ม.6/3 เลขที่16


นางสาวเสริมทรัพย์  วุฒิพล  ม.6/3 เลขที่ 31

นางสาวจุฑามาศ  เชี่ยวชาญ ม.6/3  เลขที่ 7